Friday, November 22, 2013

ความไม่งามที่มองไม่เห็น


เวลาเรามองอะไร นอกจากมองสิิ่งที่เราเห็นอยู่ตรงหน้าแล้ว ยังควรต้องมองสิ่งที่ไม่เห็นอีกด้วย

สิ่งที่มองไม่เห็น บางครั้งมันก็อยู่ตรงหน้าเรา เรามอง แต่ไม่เห็น อย่างเช่น อากาศ ละอองน้ำ แต่ถ้ามีสมาธิดีๆ ก็มองเห็นเม็ดละอองน้ำในอากาศได้ บางคนตาดีกว่านั้น อย่างเพื่อนผมคนหนึ่ง ก็สามารถเห็นอะไรที่ละเอียดอ่อนกว่า อย่างโอปาฏิกะ ผี เทวดา ได้ ไม่ว่ากลางวันหรือกลางคืน

แต่สิ่งที่มองไม่เห็นอีกอย่างหนึ่ง ต้องมองด้วยใจ หรืออาจจะคิดด้วยสมอง บางสิ่งเหล่านั้น ที่เคยมีอยู่ มันก็ไม่มีเสียแล้ว กลายเป็นสิ่งที่เคยมีอยู่ในอดีต แต่คนส่วนมากไม่ใส่ใจจะไปจำ หรือตระหนักรู้

ลองดูภาพทุ่งนาที่สวยงาม เขียวขจี กว้างใหญ่สุดสายตา เป็นตัวอย่าง (ผมถ่ายมาจากชัยภูมิ)


ตอนนี้ตาเรามองเห็นแต่ทุ่งนา แต่ในอดีตมันคือป่า ที่โดนหักร้างถางพงไปแล้ว ลองคิดดูสิว่า ก่อนที่ต้นไม้และพืชพันธุ์จำนวนมาก จะโดนกำจัดไป พวกสัตว์ต่างๆ ถูกคนล่าไปกินเสียก็เยอะ หรือไม่ก็สัตว์ล่ากินกันเองบ้าง พวกเก้ง กวางต่างๆ ไม่เหลือ ไก่ป่า นกต่างๆ ต่อมาก็สัตว์เล็กสัตว์น้อยในดิน ไม่ว่าจะเป็นพวกแย้ ตุ่น งู กบ เขียด ปลาในลำธาร แมลง ไม่รู้กี่ร้อยกี่พันสปีชี่ส์ ก็โดนคนเอาไปกินเสียแยะ ต่อมาต้นไม้ใหญ่ๆ หลายร้อยชนิดโดนคนโค่นไปหมด เหลือแค่ต้นเล็กต้นน้อย สุดท้ายป่าก็โดนคนเผาทำลายไป ทีนี้พืชป่าอีกหลายพันชนิดที่เหลือ บางอย่างอาจจะใช้เป็นยาสมุนไพรได้ ก็ถูกทำลายไปหมดด้วยไฟ (รวมทั้งสัตว์ที่เหลือที่หนีไม่ทัน หรือหนีไม่ได้ อย่างสัตว์เล็กๆ สัตว์ในดิน) สิ่งที่เหลืออยู่ให้คนเข้าไปจับจองคือดินโล่งๆ ซึ่งต่อมาคนก็ไปขุดตอไม้ออกไป ปรับดินแล้วก็ปลูกพืชเป็นอาหาร

สิ่งที่เหลืออยู่ที่เห็นเป็นส่วนมากในภาพคือต้นข้าว Oryza sativa เป็นธัญพืชหลัก ทั้งหมดชนิดเดียวกัน (สปีชี่ส์เดียวกัน) สายพันธุ์เดียวกัน (cultivar เดียวกัน) กรรมพันธุ์เหมือนกันหมด (genetic contents) ความหลากหลายทางชีวภาพหายไป (lost biodiversity)
นอกจากนี้ยังมียาฆ่าแมลงเคลือบอยู่บนใบ ในดินมีสารตกค้าง ทั้งยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า ปุ๋ยเคมี ฯลฯ
คิดดูแล้ว สิ่งที่เห็นด้วยตาเพียงผิวเผินว่างาม เมื่อใช้ปัญญา มันดูไม่งามเลย

คิดดูแล้วมันคือท้องทุ่งที่น่าเกลียด (ugly paddy field) เพราะเป็นสภาพแวดล้อมที่ถูกทำลายไปแล้ว ชีวิตสัตว์และพืชจำนวนมากชนิดถูกทำลายไปแล้ว นี่คือความไม่งาม ในธรรมชาติที่มนุษย์ทำลายไปและสร้างขึ้นมาใหม่

No comments:

Post a Comment