Friday, November 22, 2013

ความไม่งามที่มองไม่เห็น


เวลาเรามองอะไร นอกจากมองสิิ่งที่เราเห็นอยู่ตรงหน้าแล้ว ยังควรต้องมองสิ่งที่ไม่เห็นอีกด้วย

สิ่งที่มองไม่เห็น บางครั้งมันก็อยู่ตรงหน้าเรา เรามอง แต่ไม่เห็น อย่างเช่น อากาศ ละอองน้ำ แต่ถ้ามีสมาธิดีๆ ก็มองเห็นเม็ดละอองน้ำในอากาศได้ บางคนตาดีกว่านั้น อย่างเพื่อนผมคนหนึ่ง ก็สามารถเห็นอะไรที่ละเอียดอ่อนกว่า อย่างโอปาฏิกะ ผี เทวดา ได้ ไม่ว่ากลางวันหรือกลางคืน

แต่สิ่งที่มองไม่เห็นอีกอย่างหนึ่ง ต้องมองด้วยใจ หรืออาจจะคิดด้วยสมอง บางสิ่งเหล่านั้น ที่เคยมีอยู่ มันก็ไม่มีเสียแล้ว กลายเป็นสิ่งที่เคยมีอยู่ในอดีต แต่คนส่วนมากไม่ใส่ใจจะไปจำ หรือตระหนักรู้

ลองดูภาพทุ่งนาที่สวยงาม เขียวขจี กว้างใหญ่สุดสายตา เป็นตัวอย่าง (ผมถ่ายมาจากชัยภูมิ)


ตอนนี้ตาเรามองเห็นแต่ทุ่งนา แต่ในอดีตมันคือป่า ที่โดนหักร้างถางพงไปแล้ว ลองคิดดูสิว่า ก่อนที่ต้นไม้และพืชพันธุ์จำนวนมาก จะโดนกำจัดไป พวกสัตว์ต่างๆ ถูกคนล่าไปกินเสียก็เยอะ หรือไม่ก็สัตว์ล่ากินกันเองบ้าง พวกเก้ง กวางต่างๆ ไม่เหลือ ไก่ป่า นกต่างๆ ต่อมาก็สัตว์เล็กสัตว์น้อยในดิน ไม่ว่าจะเป็นพวกแย้ ตุ่น งู กบ เขียด ปลาในลำธาร แมลง ไม่รู้กี่ร้อยกี่พันสปีชี่ส์ ก็โดนคนเอาไปกินเสียแยะ ต่อมาต้นไม้ใหญ่ๆ หลายร้อยชนิดโดนคนโค่นไปหมด เหลือแค่ต้นเล็กต้นน้อย สุดท้ายป่าก็โดนคนเผาทำลายไป ทีนี้พืชป่าอีกหลายพันชนิดที่เหลือ บางอย่างอาจจะใช้เป็นยาสมุนไพรได้ ก็ถูกทำลายไปหมดด้วยไฟ (รวมทั้งสัตว์ที่เหลือที่หนีไม่ทัน หรือหนีไม่ได้ อย่างสัตว์เล็กๆ สัตว์ในดิน) สิ่งที่เหลืออยู่ให้คนเข้าไปจับจองคือดินโล่งๆ ซึ่งต่อมาคนก็ไปขุดตอไม้ออกไป ปรับดินแล้วก็ปลูกพืชเป็นอาหาร

สิ่งที่เหลืออยู่ที่เห็นเป็นส่วนมากในภาพคือต้นข้าว Oryza sativa เป็นธัญพืชหลัก ทั้งหมดชนิดเดียวกัน (สปีชี่ส์เดียวกัน) สายพันธุ์เดียวกัน (cultivar เดียวกัน) กรรมพันธุ์เหมือนกันหมด (genetic contents) ความหลากหลายทางชีวภาพหายไป (lost biodiversity)
นอกจากนี้ยังมียาฆ่าแมลงเคลือบอยู่บนใบ ในดินมีสารตกค้าง ทั้งยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า ปุ๋ยเคมี ฯลฯ
คิดดูแล้ว สิ่งที่เห็นด้วยตาเพียงผิวเผินว่างาม เมื่อใช้ปัญญา มันดูไม่งามเลย

คิดดูแล้วมันคือท้องทุ่งที่น่าเกลียด (ugly paddy field) เพราะเป็นสภาพแวดล้อมที่ถูกทำลายไปแล้ว ชีวิตสัตว์และพืชจำนวนมากชนิดถูกทำลายไปแล้ว นี่คือความไม่งาม ในธรรมชาติที่มนุษย์ทำลายไปและสร้างขึ้นมาใหม่

Monday, November 18, 2013

กินข้าวกลางวันกับเพื่อนเก่าสมัยอยู่ปี ๑ จุฬาฯ

เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว ฝรั่งเขาว่า "Time flies" พวกเรา นิสิตเก่าจุฬาฯ คณะวิทยาศาสตร์ ภาคสมทบ รุ่นที่ ๑๒ หรือพวกเราเรียกกันว่า TSC12 ที่เริ่มรู้จักกันเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙ (รหัส ๑๙) เผลอแพล็บเดียว ๓๗​ ปีแล้ว ที่พวกเรารู้จักกัน นัดกินข้าวกัน ได้มีโอกาสเจอกันจำนวนมากกว่าครั้งไหน มากัน ๒๑ คน จากในรุ่นประมาณร้อยคน บางคนก็ไม่ได้เจอกันจากนั้นมา ๓๖ ปีแล้ว ที่เรียกว่าภาคสมทบ เพราะว่าปี ๑ เราเรียนกันตั้งแต่ ๔ โมงเย็นไปจนถึงสองทุ่ม (หรือสามทุ่มถ้าทำแล็บไม่เสร็จ) แถมเลิกเรียนออกมารุ่นพี่พาไปซ้อมเชียร์ต่ออีก

ในเรื่องความคิด ผมไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองแก่ (แต่ว่าถ้าดูกาย มันก็มีเสื่อมไปตามกายสังขาร) ทั้งๆ ที่คนเรียกลุง อีกสักพักถ้าคนเรียกปู่คงค่อยว่าอีกที แต่ถามว่าจิตพร้อมไหมถ้าจะละกายนี้ ก็บอกเลยว่าพร้อม

ทบทวนความจำกันหน่อย ความจริงรุ่นเราก็เริ่มทันสมัยนะ
สมัยนั้นที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็เริ่มใช้คอมพิวเตอร์ลงทะเบียนกันแล้ว ได้สักสองปีก่อนรุ่นผมน่าจะได้ (ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๗) การลงทะเบียนยุคนั้นก็คือ ต้องไปเก็บบัตรเจาะรู (punch card) สำหรับวิชาต่างๆ มาจากกล่องที่เขาเรียงไว้บนโต๊ะ แล้วก็เอามารวบรวม ซ้อนท้ายกับบัตรที่มีชื่อเรา แล้วก็เอาไปคิดเงิน แล้วก็ยื่นให้เขา ก็ถือว่าเสร็จ ไม่กี่อาทิตย์จากนั้นก็จะมีพรินท์เอ้าท์ออกมาให้อีกที พอสิ้นเทอมก็ไปรับพรินท์เอาท์เกรดจากสำนักงานคณบดี

อยากพูดต่ออีกว่า สมัยนั้น ผมเรียนเขียนโปรแกรมครั้งแรกตอนปี ๒ พ.ศ. ๒๕๒๐ ไปลงเรียนเขียนภาษา Fortran IV ที่คณะบัญชี ก็ต้องใช้เครื่อง IBM mainframe 370 ที่ศูนย์คอมพิวเตอร์ (ฝั่งตรงข้าม ใกล้หอเจ้าจอม ตอนนั้นดูเหมือนยังไม่ได้สร้างมาบุญครอง) ก็ต้องไปน่ังพิมพ์บัตรเจาะรู
ความจริงยังมีบัตรเจาะรูหลงเหลืออยู่ เป็นการบ้านสมัยนั้น ใช้เป็นที่คั่นหนังสือ ยัดไว้ในเล่มไหนก็จำไม่ได้ หนังสือมีอยู่หลายพันเล่ม กระจายกันไปตามตู้ทั่วบ้าน

อีกอย่างหนึ่งที่จะพูดไว้เป็นหลักฐาน คือสมัยผมแรกเข้าปี พ.ศ. ๒๕๑๙ นั่น จุฬาฯ ยังใช้ตัวสะกดว่า "จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย" ตามที่ ร. ๖ พระราชทานนามมาแต่เดิม โดยไม่มีการันต์เหนือตัว "ณ" อยู่มาวันหนึ่ง มหาวิทยาลัยไปเชิญผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยมาอภิปราย (จำไม่ได้เรื่องอะไร) ท่านผู้นั้นคงเจนบาลีหน่อย ออกเสียงเรียกนามมหาวิทยาลัยแบบบาลีว่า "จุ ลา ลง กะ ระ นะ มะ หา วิท ทะ ลา ลัย" บ่อยๆ ไม่นานมหาวิทยาลัยก็เลยมีมติให้เติมการันต์ไปเหนือตัว "ณ" ตั้งแต่นั้น เพื่อกันคนอ่านผิดอีก ส่วนผมไม่เห็นด้วยหรอกนะ แต่ก็ไม่มีใครออกมาประท้วงกัน

รูปนี้หมอ ลูกเพื่อนคนหนึ่งถ่ายให้




Thursday, November 7, 2013

ชมวัดพระธาตุช้างค้ำ น่าน

วัดพระธาตุช้างค้ำ เป็นวัดสำคัญ อยู่กลางเมืองน่าน ใกล้กับวัดภูมินทร์








ชมวัดภูมินทร์ สัญญลักษณ์ของเมืองน่าน

ผมรู้จักวัดภูมินทร์จากเมืองโบราณ และก็อยากมาชมหลายสิบปีแล้ว เพิ่งมีโอกาสมาเมืองน่าน แต่เมื่อมาถึงก็ไม่ได้มาวัดนี้ทันที เพราะอยู่ใกล้ที่พัก ก็เลยไปชมที่ไกลๆ เสียก่อน ก่อนจะกลับถึงเพิ่งมาชมที่นี่ แวะเวียนมาถ่ายรูปอยู่ ๒ รอบ ๒ วันทีเดียว














ใส่บาตรพระที่วัดพระธาตุแช่แห้ง

วันหนึ่งเรา เพื่อนๆ ในคณะศิษย์เก่าวิทยาศาสตร์ ม.ช. และ ญาติ ไปร่วมใส่บาตรพระและเณรทั้งวัด ที่วัดสำคัญของจังหวัดน่าน คือวัดพระธาตุแช่แห้ง ภาพดวงตะวันขึ้นหลังพระธาตุแช่แห้งดูสวยงาม

ของใส่บาตรมากมาย เพราะศรัทธาของคนจัดอาหาร แต่ในใจผมคิดเงียบๆ ว่า อาหารใส่บาตรเหลือเฟือไปนิด บาตรพระท่านก็นิดเดียว และพระท่านฉันอาหารค้างคืนไม่ได้ ผิดพระวินัย ชาวบ้านบางคนอาจไม่ทราบ

อย่างไรก็ดี ภาพพระและเณรเดินเป็นแถวรับบาตร ก็ดูงดงาม ท่านสวดยถาสัพพีเป็นสำเนียงเหนือก็น่ารักไปอีกแบบ

เราได้มีโอกาสไปเดินเวียนรอบพระธาตุด้วยคนละ ๓ รอบ









Wednesday, November 6, 2013

แวะชม หอศิลป์ริมน่าน

ออกจาก จ. น่าน จะไปปัว ดูเหมือนจะอยู่ห่างตัวจังหวัดไปราว ๒๐ ก.ม. คือ หอศิลป์ริมน่าน เราแวะชม เป็นสถานที่แสดงผลงานของศิลปิน นักวาดภาพ และปฏิมากร แต่ละคน สลับกันไป สถานที่ร่มรื่นมาก มีอะไรให้ชมแยะ ห้องน้ำก็สวย ค่าเข้าชมไม่แพง มีร้านขายของที่ระลึกด้วย ซึ่งมีชิ้นงานให้ซื้อหาไปแต่งบ้านได้ สำหรับคนที่พอมีสตางค์















ที่พักกลางเมืองน่าน เฮือนข่วงน่าน

โพสต์เกี่ยวกับสถานที่พักของเราระหว่างเยือนเมืองน่านหน่อยก็ได้ จะได้เป็นการช่วยประชาสัมพันธ์สถานที่เพราะว่าท่านเจ้าของโรงแรมอัธยาศัยดีมาก และห้องหับก็สะอาดมาก ใช้ได้เลย คุ้มราคา ถูกกว่าโรงแรมหรูๆ แยะ อยู่กลางเมืองเสียด้วย เดินไปหาอะไรกินสะดวก และเดินออกกำลังกายไปชมสถานที่ท่องเที่ยวกลางเมืองก็ไม่ไกล

มีอะไรติไหม ?  นึกได้ ๒ เรื่อง เรื่องแรกคือผมเอารถกระบะคันใหญ่ไป รถมีวงเลี้ยวกว้าง ทำให้ค่อนข้างลำบากเล็กน้อยในการเข้าจอดรถ เพราะสถานที่นี้อยู่ในซอย แล้วในลานจอดรถ หากว่ามีแขกมาเต็มก็หาที่แทรกยาก อาจจะต้องจอดในถนนในซอย และทางเข้าบางด้านก็แคบแค่เลนเดียว แต่ทางเข้าหลักนั้น ซอยมีขนาดกว้างให้รถพอสวนกันได้ แต่ก็ต้องระวังรถโผล่มาสวนกันหน่อย หรืออาจมีรถจอดอยู่ ๑ เลนอยู่ดี  อีกเรื่องคือ ในแต่ละห้องพักมีปลั๊กไฟให้เสียบแค่ช่องเดียว หากพัก ๒ คน ไม่พอสำหรับเสียบชาร์จโทรศัพท์มือถือ ๒ คน และกล้องถ่ายรูปพร้อมๆ กัน ต้องแบ่งโควต้าเวลากัน








แวะเยี่ยมบ้านเพื่อนที่แพร่

รู้สึกอิจฉากับบรรยากาศชิดธรรมชาติของเขาไม่ได้ อากาศสดชื่นดีกว่าเมืองหลวงแยะมาก บ้านเขาก็ตกแต่งสวย เหมือนกับเจ้าของบ้านเป็นอาร์ติส จุดเด่นคือประตูไม้บานคู่แกะสลัก ลายเอามาจากเนปาลแต่แกะด้วยช่างฝีมือไทย